ข่าวประชาสัมพันธ์ เดือนเมษายน 2564 (1)

เทคนิคการจัดการดูแลในการเลี้ยงผึ้งโพรง

โดย ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดชุมพร

          ช่วงเวลาต้นปีของทุกปี เป็นช่วงที่ผึ้งโพรง (Apis cerana) จะแยกขยายรังและเพิ่มจำนวนในธรรมชาติเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูกาลที่มีอาหารในธรรมชาติของผึ้งเป็นจำนวนมาก ได้แก่ น้ำหวานจากดอกไม้ในธรรมชาติจากพืชนานาพันธุ์ รวมไปถึงเป็นช่วงที่มีการผลัดใบของต้นยางพารา ซึ่งใบเพสลาดยางพารานั้นจะมีน้ำหวานอยู่มากตรงบริเวณซอกใบ อีกทั้งฤดูกาลนี้มีปริมาณฝนตกน้อย ส่งผลให้ผึ้งโพรงสามารถออกทำงานหาอาหารได้อย่างต่อเนื่อง ผึ้งโพรงจะเก็บน้ำหวานและอาหารเพื่อใช้ในการพัฒนารวงรังและการเจริญเติบโตของประชากรผึ้งได้อย่างรวดเร็ว ในช่วงนี้ของทุกปีจึงเป็นช่วงที่ผู้เลี้ยงผึ้งโพรง ควรหมั่นตรวจสอบและดูแลจัดการแปลงเลี้ยงผึ้งให้มีความพร้อมอยู่เสมอ เพื่อรองรับการแยกขยายรังของผึ้งโพรงจากในธรรมชาติ ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงผึ้งส่วนใหญ่นั้น นอกจากจะเข้าใจชีววิทยาหรือพฤติกรรมต่างๆของผึ้งแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดของการเลี้ยงผึ้งให้ประสบความสำเร็จคือการจัดการแปลงเลี้ยงผึ้งและการปฏิบัติภายในรังผึ้งให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมส่งเสริมต่อการพัฒนารังของผึ้ง ซึ่งผู้เลี้ยงผึ้งควรพิจารณาการจัดการแปลงเลี้ยงผึ้งโพรง ดังนี้

  1. สถานที่ การจัดสถานที่สำหรับการเลี้ยงผึ้งโพรงควรเป็นพื้นที่ ที่มีความร่มรื่นหรือใต้ร่มไม้ มีลมโกรกเล็กน้อย มีแหล่งน้ำสะอาดและแหล่งอาหารในบริเวณใกล้เคียง และมีพื้นที่สำหรับเป็นลานบินของผึ้งในการบินเข้าออกรัง ควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่แห้งแล้ง ที่มีแสงแดดจัด บริเวณแหล่งชุมชน และบริเวณที่มีแสงไฟในเวลากลางคืน เพราะผึ้งจะสับสนบินมาเล่นไฟในเวลากลางคืนและทำให้ผึ้งตาย
    “หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีแสงไฟในเวลากลางคืน”
    .
  2. อาหาร แหล่งอาหารของผึ้งควรอยู่ในรัศมีพื้นที่การหากินของผึ้ง โดยอาหารของผึ้งส่วนใหญ่คือน้ำหวานจากดอกไม้ในธรรมชาติ เช่น ดาวกระจาย ทองอุไร รักแรกพบ บานชื่น ไมยราบ สาบเสือ หรือน้ำหวานที่ได้ดอกไม้ในสวนผลไม้ที่เกษตรกรปลูก เช่น มะพร้าว กาแฟ เงาะ ลิ้นจี่ ลำไย เป็นต้น นอกจากน้ำหวานแล้ว เกสรดอกไม้ ยังเป็นอีกหนึ่งแหล่งโปรตีนที่สำคัญสำหรับการเจริญเติบโตของตัวอ่อนผึ้งด้วย โดยพืชที่ให้เกสรมาก เช่น ปาล์มน้ำมัน ปอเทือง ข้าวโพด เป็นต้น.
  3. ศัตรู การจัดการศัตรูของผึ้งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับการเลี้ยงผึ้ง เนื่องจากศัตรูผึ้งบางชนิด ผึ้งไม่สามารถป้องกันกำจัดได้ด้วยตัวเอง จึงส่งผลให้ประชากรของผึ้งลดลงนำไปสู่การล่มสลายของรังผึ้งในที่สุด โดยศัตรูที่สำคัญ ๆ เช่น มด ตัวต่อ นก หนอนผีเสื้อกลางคืน (หนอนกัดกินรวงผึ้ง) เป็นต้น นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เลี้ยงผึ้งหลายคนมองข้าม แต่เป็นสาเหตุหลักของการที่ผึ้งไม่เข้ารังล่อ คือการตรวจเช็คภายในรังล่อ เพราะยังมีศัตรูอีกหลายชนิดที่แอบแฝงอยู่ภายในรังล่อผึ้ง คอยดักจับกินผึ้งที่มาสำรวจหาสถานที่สร้างรังใหม่ โดยมีศัตรูดังกล่าว เช่น แมงมุม จิ้งจก ตุ๊กแก กิ้งก่า หรือสัตว์ที่กินแมลงเป็นอาหาร ส่งผลให้ผึ้งที่บินมาสำรวจหาที่อยู่ใหม่ไม่สามารถกลับไปบอกสมาชิกตัวอื่น ๆ ที่กำลังแยกขยายรัง และส่งผลให้รังล่อของผู้เลี้ยงผึ้ง ไม่ประสบความสำเร็จในการตั้งรังล่อผึ้งจากธรรมชาติ ดังนั้นจึงควรตรวจเช็คศัตรูของผึ้งและคอยทำความสะอาดรังที่ตั้งล่ออยู่เป็นประจำอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง จึงจะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าอยู่ของผึ้งจากธรรมชาติได้มากยิ่งขึ้น
    “ลักษณะการเข้าทำลายของหนอนผีเสื้อกลางคืนในระยะแรก”
    .
  4. พฤติกรรม การสังเกตพฤติกรรมของผึ้งเป็นอีกหนึ่งวิธีในการประเมินความสมบูรณ์ของรวงรังและสภาพแวดล้อมโดยรอบ ซึ่งผู้เลี้ยงผึ้งควรหมั่นสังเกตและบันทึกข้อมูลแปลงเลี้ยงของตนไว้อย่างสม่ำเสมอ เช่น การสังเกตจำนวนประชากรผึ้งที่บินเข้าออกรังมากน้อยเพียงใด ในพื้นที่บริเวณนั้นมีกลุ่มผึ้งที่บินมาพักเพื่อหาแหล่งที่อยู่ใหม่อยู่เสมอ การเข้าอยู่ของผึ้งในรังล่อจำนวนเท่าใด นอกจากนี้ยังควรทำการสำรวจภายในรังเลี้ยงอยู่เป็นประจำด้วย เช่น การสังเกตการสร้างหลอดนางพญาตัวใหม่ การวางไข่ของผึ้งงาน และสัดส่วนของประชากรผึ้งภายในรังผึ้งมีความสมดุลกับจำนวนรวงผึ้งหรือไม่ เป็นต้น
    “การสร้างหลอดนางพญาตัวใหม่”
    .
    “การบินมาพักของผึ้งโพรงในพื้นที่เพื่อหาที่ก่อตั้งรังใหม่”
    .
    “ลักษณะการวางไข่ที่ผิดปกติ”
    .

 

ข่าวประชาสัมพันธ์ ณ วันที่ 19 เมษายน 2564